วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

องค์หญิงเหวินเฉิง สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน

           องค์หญิงเหวินเฉิง (文成公主) ทรงเป็นพระราชนัดดาในองค์พระจักรพรรดิ์ถังไท่จง พระจักรพรรดิองค์ที่สองแห่งราชวงศ์ถัง ผู้ซึ่งเสกสมรสกับกษัตริย์ทิเบตพระนาม พระเจ้าซรอนซันกัมโป ซึ่งเป็นการอภิเษกสมรสเพื่อสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีระหว่างจีนกับทิเบต พระนางมีพระสมัญญานามอันเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวทิเบตว่า "กยาซา" แปลว่า "พระภรรยาชาวจีน"

กล่าวกันว่าองค์หญิงเหวินเฉิงนั้น ทรงเป็นหนึ่งในกุลสตรีซึ่งงดงามแห่งยุคผู้หนึ่ง ทรงรอบรู้ในเหล่าสรรพวิชาการต่างๆ รวมทั้งในเชิงวิชาสรรพวุธด้วย เนื่องจากในต้นราชวงศ์ ผู้หญิงก็จำเป็นต้องฝึกยุทธ เพื่อจะได้ทำให้ร่างกายแข็งแรงและเป็นวิชาป้องกันตัว

ในการเริ่มต้นแผ่นดินราชวงศ์ถังนั้น พระเจ้าถังเกาจู่ (หลี่หยวน) ได้ทำการรวบรวมแผ่นดินและสถาปนาราชวงศ์ถังขึ้น แต่ผู้ที่ทำให้แผ่นดินนั้นมีความเป็นปึกแผ่น คือ พระเจ้าถังไท่จง (หลี่ซื่อหมิ่น) ผู้เป็นพระโอรส โดยในช่วงที่พระองค์ครองราชย์ พระองค์ได้ทรงทำการปราบเหล่ากบฎ ซึ่งมีอยู่มากมายหลายก๊ก และเหล่าชนเผ่าแห่งแดนเถื่อน (เหล่าผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่นอกอาณาเขตกำแพงเมืองจีน) จนได้กลายเป็นแผ่นดินที่กว้างใหญ่ไพศาล จนคนในยุคนั้นได้ถือว่า เมืองฉางอัน ซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ถังในสมัยนั้น ได้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งโลกตะวันออกเลยทีเดียว

ในช่วงต้นนั้น ชนเผ่าและอาณาจักรน้อยใหญ่ ต่างก็ตั้งตัวเป็นศัตรูแห่งราชวงศ์ถัง เช่นในคาบสมุทรเกาหลี ราชสกุลโกแห่งอาณาจักรโกคูรยอ และ ราชสกุลพูยอแห่งอาณาจักรแพ็กเจ ก็มีท่าทีเป็นศัตรู แต่ยังพอมีผู้ที่มีท่าทีเป็นมิตรกับทางราชวงศ์ถังอยู่บ้าง เช่น ราชสกุลคิมแห่งอาณาจักรชิลลา รวมไปถึง พระเจ้าซรอนซันกัมโป แห่งทิเบตด้วย

          พระเจ้าซรอนซันกัมโปพระองค์นี้ เป็นกษัตริย์ทิเบตระหว่าง ค.ศ. 620 - 650 เป็นกษัตริย์พระองค์แรกของทิเบตที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชัดเจน ทรงครองราชย์ในสมัยที่ทิเบตเรืองอำนาจทางทหาร ทรงสร้างสัมพันธไมตรีกับกษัตริย์แห่งจีนและเนปาล โดยอภิเษกกับเจ้าหญิงภริคุติ ราชธิดาของพระเจ้าอังศุวรมันแห่งเนปาล ทั้งยังชื่นชอบวัฒนธรรมของราชวงศ์ถังเป็นอย่างมาก และหวังจะได้รับการสนับสนุนจากราชวงศ์ถังที่เจริญรุ่งเรือง พระเจ้าถังไท่จึงยกองค์หญิงเหวินเฉิงให้อภิเษกด้วย โดยตามบันทึกของจีน ในปี ค.ศ. 634 ได้กล่าวถึงราชทูตของพระเจ้าซรอนซันกัมโปว่า "ทรงทูลขอพระราชทาน (ในประวัติศาสตร์ทิเบตว่า ทรงเรียกร้อง) ที่จะสมรสกับเจ้าหญิงของถัง แต่กลับถูกปฏิเสธ" ต่อมาในช่วงปี ค.ศ. 635-636 กองทัพของพระเจ้าซรอนซันกัมโปก็ทรงได้ไปบุกเข้าโจมตีชนเผ่าอาซา ที่ได้ตั้งถิ่นฐานบริเวณทะเลสาบโกโกนูร์ (ปัจจุบันคือ ทะเลสาบชิงไห่) ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญของจีนในอดีต ในปีเดียวกันนั้นได้มีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้น เพื่อสัมพันธภาพทางการทูต พระจักรพรรดิถังไท่จงจึงโปรดให้มีการอภิเษกสมรส ระหว่างองค์หญิงเหวินเฉิงกับกษัตริย์ทิเบตในปี ค.ศ. 640 และได้กลายเป็นสัมพันธภาพที่ดีระหว่างทิเบตกับจีนตลอดรัชสมัยของพระเจ้าซรอนซันกัมโป

           ปี ค.ศ. 641 องคค์หญิงเหวินเฉิงเดนทางไปทิเบต โดยมีข้าราชการเดินทางไปด้วย พระราชพิธีอภิเษกสมรสจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ภายใต้การต้อนรับอย่างดีมากของชาวทิเบต ชาวบ้านต่างร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน แต่เดิมชาวทิเบตอาศัยอยู่ในเต้นท์พัก แต่ว่ากันว่า เพื่อต้อนรับองค์หญิง จึงทำการก่อสร้างพระราชวังอย่างหรูหราขึ้นเป็นพิเศษ ซึ่งก็คือ พระราชวังโปตาลาในปัจจุบันนั้นเอง

          ครั้นองค์หญิงผู้รักการอ่านหนังสือ และทรงพระปรีชาหลายด้าน ได้เข้ามาอาศัยยังทิเบต ก็ได้ทรงนำเอายารักษาโรค หนังสือ เมล็ดพันธ์พืช และงานหัตถกรรมของราชวงศ์ถังไปด้วย นอกจากนี้ยังมีช่างฝีมือในการเลี้ยงหม่อนไหม ช่างหมักเหล้า ช่างผลิตกระดาษ และช่างทอผ้าร่วมเดินทางไปด้วย องค์หญิงทรงนับถือศาสนาพุทธว่ากันว่าองค์หญิงเป็นผู้เลือกสถานที่สร้างวัดต้าเจา (วัดโจคัง) เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมของชนชาติฮั่นสู่ชาวตูโป ทำให้วัฒนธรรมและการผลิตของตูโปพัฒนาขึ้นมากกว่าเดิม

         องค์หญิงเหวินเฉิงมีชีวิตอยู่ในทิเบตเป็นระยะเวลากว่า 40 ปี พระองค์ได้เสียสละตนเพื่อสร้างมิตรภาพที่ดีระหว่างสองชนชาติ ชาวธิเบตต่างก็ได้เคารพรักและรำลึกถึงองค์หญิงเสมอมา จนถึงปัจจุบัน วัดต้าเจาและพระราชวังโปตาลาในเมืองลาซา ก็ยังคงมีรูปปั้นขององค์หญิงเหวินเฉิงประดิษฐานไว้ นอกจากนี้ในกลุ่มชนชาติธิเบตก็ยังมีเรื่องราวตำนานเกี่ยวกับองค์หญิงเหวินเฉิงมากมาย


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก www.facebook.com/HistoryOnTimeline

ตำนานการวิ่งมาราธอน

ตำนานการวิ่งมาราธอน - ควันหลงการยุทธที่มาราธอน

         

              ในการรบที่มาราธอน มีตำนานที่โด่งดังเรื่องหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรบครั้งนี้เล่าว่า หลังจากที่เอเธนส์ได้ชัยชนะเหนือเปอร์เซียแล้ว ฟิดิปปิเดซ (Pheidippides) ผู้นำสารได้รีบวิ่งกลับไปส่งข่าวยังเอเธนส์ซึ่งห่างออกไป 21 ไมล์ (34.5 กิโลเมตร) เพื่อนำข่าวชัยชนะของกองทัพ ด้วยความดีใจ เขาวิ่งออกไปทั้งๆที่ยังสวมชุดเกราะ โดยวิ่งผ่านภูเขาเมทอส เนินเขาไลคาเวทอส และอโครโพลิส มาสู่หน้าสภารวดเดียวโดยไม่หยุดพัก เมื่อมาถึงก็ชูโล่ห์ขึ้นเหนือศีรษะพร้อมกับร้องตะโกนว่า เราชนะ!! จากนั้นก็ล้มลงสิ้นใจ โดยการวิ่งในครั้งนี้ของเขาได้กลายเป็นตำนาน ซึ่งเป็นที่มาของการวิ่งมาราธอนในปัจจุบัน


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก www.facebook.com/HistoryOnTimeline

จักรพรรดินอร์ตันที่ 1 แห่งสหรัฐอเมริกา (Emperor Norton I)


จักรพรรดินอร์ตันที่ 1 แห่งสหรัฐอเมริกา (Emperor Norton I)



หากผมบอกว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาเคยมีจักรพรรดิกับเค้าเหมือนกันด้วย หลายท่านอาจจะงงครับว่ามีด้วยหรอ จริงๆแล้วเรื่องจักรพรรดินอร์ตันนี้ เป็นแค่เรื่องโจ๊ก ซึ่งมีที่มากจากชายซึ่งคนทั่วไปมองว่าสติไม่ค่อยจะดีคนหนึ่งครับ นามว่า โจชัว อัมบราฮัม นอร์ตัน (Joshua Abraham Norton)

และถึงแม้ว่าเรื่องของนอร์ตันจะเป็นแค่เรื่องโจ๊ก แต่ก็เป็นเรื่องที่โด่งดังมากในยุคนั้นเลยทีเดียว ทีนี้เรามาทำความรู้จักกับ"จักรพรรดิ"พระองค์นี้กันดีกว่าครับ

นอร์ตันเกิดในประเทศอังกฤษ ในปี 1819 เขาเป็นลูกของพ่อค้าเชื้อสายยิวที่มีฐานะ จากนั้นครอบครัวได้อพยพไปยังอัฟริกาใต้ในปี 1820

ในปี 1849 นอร์ตันอพยพมายังสหรัฐอเมริกา หลังจากได้รับมรดกจากพ่อเป็นเงินกว่า 40,000 เหรียญ ซึ่งในสหรัฐฯ เขาได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และมีทรัพย์สินรวมกว่า 250,000 เหรียญในช่วงราวปี 1850

ในปี 1853 เกิดภาวะแห้งแล้งในประเทศจีน จนทางการจีนห้ามการส่งออกข้าว ทำให้ราคาข้าวในซานฟรานซิสโก พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก จาก 9 เซนต์ต่อกิโลกรัม กลายเป็น 70 เซนต์เลยทีเดียว นอร์ตันเห็นว่าเป็นโอกาสในการทำกำไรจากธุรกิจข้าว เขาจึงได้ทำสัญญาซื้อขายข้าวจำนวน 91 ตัน จากนาย กลิด (Glyde) ซึ่งขนข้าวมาจากเปรู แต่ทว่าหลังจากลงนามในสัญญาแล้ว กลับมีเรือลำอื่นที่นำข้าวจากเปรูเข้ามาอีก ทำให้ราคาข้าวตกลงอย่างรวดเร็ว

นอร์ตัน พยายามที่จะยกเลิกสัญญา แต่ว่าคดีถูกนำขึ้นไปต่อสู้ยังชั้นศาลอย่างยาวนานจนถึงปี 1857 นอร์ตันเป็นฝ่ายแพ้คดี ถูกบังคับให้นำทรัพย์สินมาขายทอดตลาด และประกาศล้มละลายในปี 1858 และได้เดินทางออกจากซานฟรานซิสโกไป ซึ่งการสูญเสียทรัพย์สินจำนวนมากนี้เองที่ทำให้เขามีอาการทางจิต

นอร์ตันเดินทางกลับมายังซานฟรานซิสโกอีกในปี 1859 และหลังจากนั้น ในวันที่ 17 กันยายน 1859 นอร์ตันได้ประกาศสถาปนาตัวเองเป็นจักรพรรดิแห่งสหรัฐอเมริกา และผู้พิทักษ์แห่งเม็กซิโก โดยที่ตัวเขาเขาได้ส่งจดหมายไปยังหนังสือพิมพ์หลายฉบับโดยประกาศตัวว่าเป็น จักรพรรดิแห่งประเทศนี้ (Emperor of these United States) ความว่า

"ด้วยปรารถนาแห่งประชาชนส่วนใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ข้า โจชัว นอร์ตันแห่งอัลกอเบย์, แหลม กู๊ดโฮป ซึ่งอยู่ในซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย มาเป็นเวลา 9 ปี กับ 10 เดือน ขอประกาศให้ทราบว่า ข้าคือจักรพรรดิแห่งสหรัฐอเมริกา และด้วยอำนาจของข้าพเจ้านี้ จึงขอสั่งการไปยังผู้แทนของแต่ละรัฐ ให้มาประชุมกันที่โรงละครของเมืองนี้ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ของปีถัดไป เพื่อร่วมกันหารือถึงกฏหมายที่มีอยู่และทางเลือกของประเทศนี้ เพื่อช่วยกันกำจัดความชั่วร้ายที่ประเทศนี้กำลังรับใช้ และเพื่อให้ประเทศคงอยู่ตลอดไป ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อความมั่นคงและความเป็นปึกแผ่น

นอร์ตัน ที่ 1, 17 กันยายน 1859"

บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งก็ไม่รู้นึกสนุกอะไรของแก อาจเป็นเพราะขณะนั้น สหรัฐอเมริกามีเรื่องคุกรุ่นภายใน ใกล้จะเกิดสงครามกลางเมือง สถานการณ์ต่างๆจึงตรึงเครียด สับสน และขัดแย้งแกคงคิดว่า หากนำประกาศที่ดูเพี้ยนๆ ฉบับนี้ลงตีพิมพ์ ก็น่าจะลดความเครียดหล่านั้นของชาวอเมริกาลงได้บ้าง โดยหันมามีอารมณ์ขัน วิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องไม่เป็นเรื่อง อาจทำให้ลืมเหตุการณ์ในสังคมไปชั่วขณะได้

หากแต่ว่า เมื่อตีพิมพ์ไปแล้ว กลับได้ผลตอบรับเและเป็นที่พูดถึงดีเกิดนคาด หนังสือพิมพ์อื่นๆจึงรับลูก และเอาไปลงต่อๆกันอย่างแพร่หลาย ส่วนใหญ่ก็วิพากษ์วิจารย์กันอย่างขบขัน แล้วก็มีบางส่วนพูดทีเล่นว่า อยากจะยกตำแหน่งให้แกเป็นจักรพรรดิจริงๆ

หลังจากนั้น นอร์ตัน ก็เริ่มร่างและวางกฏหมายต่างๆ หนังสือพิมพ์และชาวบ้านก็ชักจะสนุกแล้วก็เล่นกะเค้าด้วย โดยทุกเช้า ชาวอเมริกันชนก็จะเปิดหน้าหนังสือพิมพ์ดูว่าวันนี้ จักพรรดิของเขามีประกาศอะไรมาบ้าง และแจ้งให้ประชนและหน่วยงานราชการ ควรทำหรือไม่ทำอะไร ทำให้หนังสือพิมพ์ขายดิบขายดียิ่งขึ้นมากมาย

ผู้คนหลายคนแกล้งทำไปตามบทที่นอร์ตันสั่งสนุกๆแก้เซ็งในชีวิตและให้ลืมปัญหาที่รายล้อมรอบด้าน จนเรื่องโจ๊ก ก็กลายเป็นจริงขึ้นมาได้ เมื่อในวันหนึ่ง มีประกาศผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ ให้ประชาชนก้มหัวคำนับ เมื่อจักรพรรดิเดินผ่าน ชาวซานฟรานซิสโกก็เต็มใจทำกันครึ่งค่อนเมือง!

จักรพรรดิจะแต่งองค์ด้วยเครื่องแบบดัดแปลงที่กองทัพสหรัฐบริจาคให้มา เป็นชุดทหารสีน้ำเงิน มีอินทรธนูและภู่สีเงินประดับบ่า หมวกหนังบีเวอร์ทีมีขนนกยูงและดอกจันตกแต่ง ทุกวันจะออกตรวจระบบสาธารณูปโภค หากเห็นข้อบกพร่องจะสั่งให้ปรับปรุงทันที

เขาเป็นที่รักของชาวเมืองซานฟรานซิสโก และมักเข้าไปรับประทานอาหารในร้านหรูๆ ซึ่งทางร้านก็มีป้ายติดไว้ด้วยว่า “ได้รับการรับรองโดยจักรพรรดินอร์ตัน แห่งสหรัฐฯ”

ครั้งหนึ่งมีการจลาจลต่อต้านชาวจีนในซานฟราซิสโก สองฝ่ายจะยกกำลังเข้าปะทะกัน จักรพรรดินอร์ตันอยู่ในชุดพระสันตปะปาและตรงเข้าไปขวาง ทั้งสองกลุ่มหยุดชะงัก ก้มคำนับให้ และร้องเพลงบทสวด แล้วสลายตัวไป

และนอกจากนั้น จักรพรรดินอร์ตันที่ 1 ยังเคยสั่งยุบสภาคองเกรส และปลดประธานาธิบดีอิบราฮัม ลินคอล์น มาแล้ว ในข้อหาที่เกิดสงครามฝ่ายเหนือฝ่ายใต้บานปลายไม่ยุติสักที แถมยังสั่ง ยุบพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน ที่ขัดแย้งกันอย่างหนัก เอากับเขาสิ 55+

จักรพรรดินอร์ตันที่ 1 ยังเคยสั่งพิมพ์แบงค์ราคา 50 เซ็นต์ถึง 5 ดอลล่าร์ขึ้นมาใช้เอง ถึงจะเป็นแบ็งค์เถื่อน แต่ประชาชนและร้านค้าหลายแห่งยอมรับ ต่อมาก็อยากจะสร้างทางรถไฟที่มี รางสับเปลี่ยนโดยอัตโนมัติ แต่ต้องใช้เงินจำนวนมาก จึงสั่งพิมพ์ธนบัตรใบละ 100 ดอลล่าร์ และนำไปขึ้นเงินที่ธนาคารเฟิสต์เนชั่นแนล ธนาคารปฏิเสธ จักรพรรดิเสียหน้ามาก จึงออกคำสั่งปิดธนาคาร

จักรพรรดินอร์ตันที่ 1 เคยถูกตำรวจจับในข้อหาจรจัด ในขณะทำหน้าที่จักรพรรดิ แต่เขาก็ต่อสู้รอดพ้นคดี เพราะตอนถูกจับเขามีเงินติดตัวถึง 4 ดอลล่าร์ 75 เซ็นต์ ตำรวจก็คิดเอาชนะเปลี่ยนข้อหาเป็น "คนวิกลจริต" ชาวบ้านชาวเมืองจึงรุมประท้วงตำรวจ จนในที่สุดอธิบดีกรมตำรวจต้องสั่งปล่อยตัว กล่าวคำขอโทษ พร้อมทั้งออกกฏระเบียบ ให้ตำรวจทุกนายต้องทำ วันทยาหัตถ์เคารพนอร์ตัน ทุกครั้งที่เดินสวนกับเขาบนท้องถนน

8 มกราคม 1880 เรื่องของจักรพรรดินอร์ตันที่ 1 แห่งอเมริกาก็ปิดฉากลง ขณะเดินออกตรวจตราตามภารกิจประจำวัน เขาก็ล้มคว้ำลงอย่างกระทันหัน เส้นเลือดในสมองแตก เสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล ปิดฉากหน้าประวัติศาสตร์อเมริกาในเรื่องของจักรพรรดิองค์แรก และองค์สุดท้ายไปในที่สุด

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก www.facebook.com/HistoryOnTimeline