วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

องค์หญิงเหวินเฉิง สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน

           องค์หญิงเหวินเฉิง (文成公主) ทรงเป็นพระราชนัดดาในองค์พระจักรพรรดิ์ถังไท่จง พระจักรพรรดิองค์ที่สองแห่งราชวงศ์ถัง ผู้ซึ่งเสกสมรสกับกษัตริย์ทิเบตพระนาม พระเจ้าซรอนซันกัมโป ซึ่งเป็นการอภิเษกสมรสเพื่อสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีระหว่างจีนกับทิเบต พระนางมีพระสมัญญานามอันเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวทิเบตว่า "กยาซา" แปลว่า "พระภรรยาชาวจีน"

กล่าวกันว่าองค์หญิงเหวินเฉิงนั้น ทรงเป็นหนึ่งในกุลสตรีซึ่งงดงามแห่งยุคผู้หนึ่ง ทรงรอบรู้ในเหล่าสรรพวิชาการต่างๆ รวมทั้งในเชิงวิชาสรรพวุธด้วย เนื่องจากในต้นราชวงศ์ ผู้หญิงก็จำเป็นต้องฝึกยุทธ เพื่อจะได้ทำให้ร่างกายแข็งแรงและเป็นวิชาป้องกันตัว

ในการเริ่มต้นแผ่นดินราชวงศ์ถังนั้น พระเจ้าถังเกาจู่ (หลี่หยวน) ได้ทำการรวบรวมแผ่นดินและสถาปนาราชวงศ์ถังขึ้น แต่ผู้ที่ทำให้แผ่นดินนั้นมีความเป็นปึกแผ่น คือ พระเจ้าถังไท่จง (หลี่ซื่อหมิ่น) ผู้เป็นพระโอรส โดยในช่วงที่พระองค์ครองราชย์ พระองค์ได้ทรงทำการปราบเหล่ากบฎ ซึ่งมีอยู่มากมายหลายก๊ก และเหล่าชนเผ่าแห่งแดนเถื่อน (เหล่าผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่นอกอาณาเขตกำแพงเมืองจีน) จนได้กลายเป็นแผ่นดินที่กว้างใหญ่ไพศาล จนคนในยุคนั้นได้ถือว่า เมืองฉางอัน ซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ถังในสมัยนั้น ได้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งโลกตะวันออกเลยทีเดียว

ในช่วงต้นนั้น ชนเผ่าและอาณาจักรน้อยใหญ่ ต่างก็ตั้งตัวเป็นศัตรูแห่งราชวงศ์ถัง เช่นในคาบสมุทรเกาหลี ราชสกุลโกแห่งอาณาจักรโกคูรยอ และ ราชสกุลพูยอแห่งอาณาจักรแพ็กเจ ก็มีท่าทีเป็นศัตรู แต่ยังพอมีผู้ที่มีท่าทีเป็นมิตรกับทางราชวงศ์ถังอยู่บ้าง เช่น ราชสกุลคิมแห่งอาณาจักรชิลลา รวมไปถึง พระเจ้าซรอนซันกัมโป แห่งทิเบตด้วย

          พระเจ้าซรอนซันกัมโปพระองค์นี้ เป็นกษัตริย์ทิเบตระหว่าง ค.ศ. 620 - 650 เป็นกษัตริย์พระองค์แรกของทิเบตที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชัดเจน ทรงครองราชย์ในสมัยที่ทิเบตเรืองอำนาจทางทหาร ทรงสร้างสัมพันธไมตรีกับกษัตริย์แห่งจีนและเนปาล โดยอภิเษกกับเจ้าหญิงภริคุติ ราชธิดาของพระเจ้าอังศุวรมันแห่งเนปาล ทั้งยังชื่นชอบวัฒนธรรมของราชวงศ์ถังเป็นอย่างมาก และหวังจะได้รับการสนับสนุนจากราชวงศ์ถังที่เจริญรุ่งเรือง พระเจ้าถังไท่จึงยกองค์หญิงเหวินเฉิงให้อภิเษกด้วย โดยตามบันทึกของจีน ในปี ค.ศ. 634 ได้กล่าวถึงราชทูตของพระเจ้าซรอนซันกัมโปว่า "ทรงทูลขอพระราชทาน (ในประวัติศาสตร์ทิเบตว่า ทรงเรียกร้อง) ที่จะสมรสกับเจ้าหญิงของถัง แต่กลับถูกปฏิเสธ" ต่อมาในช่วงปี ค.ศ. 635-636 กองทัพของพระเจ้าซรอนซันกัมโปก็ทรงได้ไปบุกเข้าโจมตีชนเผ่าอาซา ที่ได้ตั้งถิ่นฐานบริเวณทะเลสาบโกโกนูร์ (ปัจจุบันคือ ทะเลสาบชิงไห่) ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญของจีนในอดีต ในปีเดียวกันนั้นได้มีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้น เพื่อสัมพันธภาพทางการทูต พระจักรพรรดิถังไท่จงจึงโปรดให้มีการอภิเษกสมรส ระหว่างองค์หญิงเหวินเฉิงกับกษัตริย์ทิเบตในปี ค.ศ. 640 และได้กลายเป็นสัมพันธภาพที่ดีระหว่างทิเบตกับจีนตลอดรัชสมัยของพระเจ้าซรอนซันกัมโป

           ปี ค.ศ. 641 องคค์หญิงเหวินเฉิงเดนทางไปทิเบต โดยมีข้าราชการเดินทางไปด้วย พระราชพิธีอภิเษกสมรสจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ภายใต้การต้อนรับอย่างดีมากของชาวทิเบต ชาวบ้านต่างร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน แต่เดิมชาวทิเบตอาศัยอยู่ในเต้นท์พัก แต่ว่ากันว่า เพื่อต้อนรับองค์หญิง จึงทำการก่อสร้างพระราชวังอย่างหรูหราขึ้นเป็นพิเศษ ซึ่งก็คือ พระราชวังโปตาลาในปัจจุบันนั้นเอง

          ครั้นองค์หญิงผู้รักการอ่านหนังสือ และทรงพระปรีชาหลายด้าน ได้เข้ามาอาศัยยังทิเบต ก็ได้ทรงนำเอายารักษาโรค หนังสือ เมล็ดพันธ์พืช และงานหัตถกรรมของราชวงศ์ถังไปด้วย นอกจากนี้ยังมีช่างฝีมือในการเลี้ยงหม่อนไหม ช่างหมักเหล้า ช่างผลิตกระดาษ และช่างทอผ้าร่วมเดินทางไปด้วย องค์หญิงทรงนับถือศาสนาพุทธว่ากันว่าองค์หญิงเป็นผู้เลือกสถานที่สร้างวัดต้าเจา (วัดโจคัง) เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมของชนชาติฮั่นสู่ชาวตูโป ทำให้วัฒนธรรมและการผลิตของตูโปพัฒนาขึ้นมากกว่าเดิม

         องค์หญิงเหวินเฉิงมีชีวิตอยู่ในทิเบตเป็นระยะเวลากว่า 40 ปี พระองค์ได้เสียสละตนเพื่อสร้างมิตรภาพที่ดีระหว่างสองชนชาติ ชาวธิเบตต่างก็ได้เคารพรักและรำลึกถึงองค์หญิงเสมอมา จนถึงปัจจุบัน วัดต้าเจาและพระราชวังโปตาลาในเมืองลาซา ก็ยังคงมีรูปปั้นขององค์หญิงเหวินเฉิงประดิษฐานไว้ นอกจากนี้ในกลุ่มชนชาติธิเบตก็ยังมีเรื่องราวตำนานเกี่ยวกับองค์หญิงเหวินเฉิงมากมาย


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก www.facebook.com/HistoryOnTimeline

1 ความคิดเห็น: